ปัจจุบันมนุษย์ออฟฟิศหลายๆ คน ใช้เวลาทั้งวันไปกับการนั่งทำงานมากกว่ายืนเสียด้วยซ้ำ ไม่เชื่อคุณลองนับเล่นๆได้เลยว่า วันนี้ยืนทำงานไปกี่ชม. และนั่งทำงานกี่ชม. จึงไม่แปลกที่ร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนความผิดปกติ เช่น ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดบ่า หรือรู้สึกอ่อนล้า ถ้าใครที่เริ่มมีอาการเหล่านี้ล่ะก็ คุณอาจได้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ก็คือโรค ‘ออฟฟิศซินโดรม’ นั่นเอง
‘ออฟฟิศซินโดรม’ พบได้บ่อยในคนวัยทำงานโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานในสำนักงานที่มีพฤติกรรมนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน
และเพ่งจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนาน 1 ชั่วโมง ซึ่งผลวิจัยบอกว่าคนที่ทำงานออฟฟิศ 1 ใน 10 คน ป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม
ซึ่งคุณจะเห็นได้ว่าโรคนี้เกิดจากการนั่งเป็นเวลานาน ท่านั่งที่ไม่ถูกวิธี ดังนั้นคุณจะรู้ได้ทันทีเลยว่าหากคุณนั่งทำงานด้วยท่าที่ถูกต้อง
และมีเก้าอี้ที่ถูกกับสรีระของเรา หรือที่เรียกกันว่า ‘ergonomics chair’ คุณจะห่างไกลจากโรคนี้อย่างแน่นอน
แต่ต้องเลือกเก้าอี้ออฟฟิศแบบไหนล่ะ ถึงจะถูกกับสรีระของตัวเรา?
เราเลยมีเทคนิคการเลือกเก้าอี้ และข้อมูลดี ๆ เพื่อให้คุณได้รู้จักกับ ‘ergonomics chair’ ให้มากขึ้น
อันดับแรก สิ่งที่เราเน้นย้ำและบอกทุกคนอยู่เสมอ คือร่างกายของเราสัมผัสเก้าอี้ถึง 80% เก้าอี้จึงแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของเรา ดังนั้นการมีเก้าอี้งานดีๆ สักหนึ่งตัว คุณจะวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าสุขภาพของคุณได้รับการดูแลอย่างแน่นอน แต่ด้วยราคาเก้าอี้ในปัจจุบันที่มีตั้งแต่ ราคาถูกไปจนถึงราคาสูงมาก หลายคนอาจจะเลือกไม่ถูก! เราอยากให้คุณเริ่มจากลองนั่งเก้าอี้ที่คุณชอบก่อน แต่อย่าลืมว่าชอบและต้องใช่ด้วย! ใช่ในที่นี้คือ เก้าอี้ต้องสามารถปรับระดับความสูงได้ เพราะหากเก้าอี้ไม่สามารถปรับอะไรได้เลย โอกาสที่มันจะถูกกับสรีระของคุณก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้นถ้าเก้าอี้ตัวไหนปรับไม่ได้ ข้ามได้เลยครับ
นอกจากเรื่องความสูง ยังมีเรื่องของการปรับในส่วนอื่น ๆ ของเก้าอี้ เช่น การปรับ seat slide หรือการปรับช่วงขาช่วงบนเข่าจนถึงสะโพก เพื่อดูว่าช่วงขาเรายาวแค่ไหน และการปรับพนักพิงหลัง ที่เรียกกันว่า lumba support (ตัวรองรับตรงกระดูกตรงบั้นเอว) อันนี้มันสามารถที่จะต้องปรับได้ด้วย เพราะช่วงเอวแต่ละคนก็มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน ดังนั้นส่วนนี้จึงสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆ ของเก้าอี้
ต่อด้วยเรื่องของไซส์เก้าอี้ บางเก้าอี้สามารถปรับได้ทุกอย่าง แต่ขนาดเก้าอี้กลับใหญ่มาก คนตัวเล็กจึงนั่งแล้วรู้สึกไม่สบาย ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้ชาวต่างชาติมานั่งเก้าอี้คนเอเชีย เขาอาจจะรู้สึกว่ามันแน่นเกินไป
เพราะฉะนั้นจะรู้ได้ไงว่ามันถูกกับสรีระเราไหม คุณต้องลองเท่านั้น! การที่เราจะไปลองนั่งนั้น แนะนำว่าให้หาผู้เชี่ยวชาญของแบรนด์นั้น ๆ มาลองปรับ มาแนะนำเราให้ครบว่าเก้าอี้ตัวนี้มันดีอย่างไร ปรับอะไรยังไงได้บ้าง แต่ว่าหลักการง่าย ๆ ที่เราจะไปลองคือ นั่งแล้วถอยก้นไปให้สุดเบาะ เป็นสิ่งแรก แล้วค่อยลองพิงดูว่าตรงบั้นเอวเรารู้สึกสบายดีไหม นี่คือเคล็ดลับสำคัญที่จะช่วยให้คุณเลือกเก้าอี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น
เลือกเก้าอี้ออฟฟิศทั้งที ต้องดีต่อร่างกาย
ก่อนจะเลือกเก้าอี้ อย่าลืมสำรวจตัวเองก่อน ว่าเราเป็นคนประเภทไหน เป็นคนมีน้ำหนักตัวมาก ขายาว ขาสั้น พอรู้ลักษณะของเราแล้ว ก็ลองไปหาเก้าอี้ที่มันปรับ feature ที่มันสอดคล้องกันได้ และในส่วนของวัสดุเมื่อเจอเก้าอี้ที่ใช่แล้ว เราสามารถเปลี่ยนวัสดุที่หุ้มได้ บางคนชอบไวนิล บางคนชอบแบบหนัง ก็สามารถเลือกตามความเหมาะสม แต่สำหรับคนที่นั่งทำงานนานๆ ควรเลือกวัสดุเบาะที่เป็นผ้า หรือเป็นตาข่าย จะช่วยให้ระบายความร้อนได้ดี เพราะบางคนนั่งทำงานนานๆ แล้วเหงื่อมักจะออกง่ายนั่นเอง
ในส่วนของท่านั่งขาทั้งสองต้องตั้งฉากกับพื้นพอดี โดยที่ปลายทางต้องไม่ห้อยลงพื้น เพราะว่าเลือดจะไหลลงมากอง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้หญิง ต่อให้นั่งเก้าอี้ที่เหมาะสม แต่ใส่ส้นสูงนั่งตลอดเวลา อันนี้ก็ไม่แนะนำเหมือนกัน เพราะเลือดจะไหลมากองที่เท้า ถ้าใส่ส้นสูงแนะนำให้ถอดรองเท้าออก แล้วเปลี่ยนเป็นรองเท้าสบาย ๆ เพื่อช่วยในการผ่อนคลายเวลาทำงาน
เก้าอี้ผ้า VS เก้าอี้หนัง สรุปใครดีกว่า?
เก้าอี้หนังหรือเก้าอี้ผ้าดีกว่า? ถ้าพูดเรื่องความหรูหรา มีสไตล์ เก้าอี้หนังดูหรูกว่า ให้ความรู้สึก elegant ดูแพง แล้วยิ่งถ้าเป็นหนังแท้ก็จะยิ่งดูแพงไปอีก อาจจะให้ความรู้สึกนุ่มแบบที่เราใช้กระเป๋าหนัง ตัวสัมผัสกับหนัง แต่ถ้าจะพูดถึงสรีระจริง ๆ มันต้องเป็นอะไรที่ support กับร่างกายเรา ซึ่งมันควรจะต้องระบายอากาศได้ดี ซึ่งเก้าอี้ผ้าจะตอบโจทย์ทันที อย่างที่เคยบอกไปข้างต้นว่า เก้าอี้ผ้าเหมาะสำหรับคนที่เหงื่อออกง่าย ดังนั้นจะเลือกแบบไหนขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน และความชอบส่วนบุคคล
ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารที่นั่งทำงานไม่กี่ชั่วโมง อาจต้องการเก้าอี้ที่นุ่มตอนสัมผัส และมีความหรูหรา เก้าอี้หนังจึงตอบโจทย์มากกว่า แต่ถ้า work hours 8 ชั่วโมง ควรจะเลือกเก้าอี้ที่เน้นฟังก์ชันมากกว่า
ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดของ ‘เก้าอี้’
สิ่งแรกของเก้าอี้ ที่จะเกิดปัญหาก่อนเลย คือ gap slip (ตัวปรับสูงต่ำ) หรือโช้ก เพราะคนที่นั่งเก้าอี้ส่วนใหญ่จะชอบปรับระดับเล่นบ่อยครั้ง ทำให้เกิดปัญหาเป็นอันดับแรก ซึ่งความเป็นจริงแล้ว หากคุณปรับ gap slip ไว้ตามที่คุณถนัด ก็แทบจะไม่ต้องปรับอีกเลย
Gap slip มีหลายคุณภาพ เราจะพบตามร้านเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปว่า บางเจ้าบอกเก้าอี้รับประกัน 3 ปี แต่พอไปกางดูใบรับประกัน gap silp กลับรับประกันเพียง 1 ปี เพราะมันเป็นจุดแรกที่จะพังเร็วที่สุด ถือเป็นสิ่งที่เราควบคุมลำบาก ถ้าคุณอยากจะได้ของดีมีคุณภาพ ก็ต้องเลือกแบรนด์ที่มีไว้ใจได้ รับประกันเก้าอี้5 ปี gap silp 5 ปี แบบนี้มันก็มีโอกาสน้อยที่จะพัง เพราะเขาใส่ต้นทุนในการรับประกันเข้าไปแล้ว
อันดับที่สองคือฐานล้อ (ฐานเก้าอี้) แตก อันดับที่สาม คือถ้าไปเลือกเก้าอี้โดยเฉพาะตาข่ายที่มันไม่ดี นอกจากนั้นจะเป็นการระมัดระวังทั่วไป การใช้เบาะผ้า เบาะหนัง หรือเบาะตาข่ายก็ดี แต่ถ้าเลือกแบบ mesh (ตาข่าย) ก็ต้องดูว่าคุณภาพดีไม่ดี ควรเลือกให้ตรงตามความเหมาะสมของบุคคล
นั่งแบบไหนเสี่ยง ‘ออฟฟิศซินโดรม’
เริ่มด้วยท่านั่งที่คิดไปเองว่านั่งสบาย เช่น การนั่งพิงหลัง นั่งอยู่บ้าน นั่งเล่นเกม เอนตัวลงไปบนเก้าอี้จนสุด แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นท่าที่ทำร้ายกระดูกสันหลังช่วงล่างอย่างมาก อีกหนึ่งเรื่อง คือเราจะเห็นผู้หญิงที่มีความมุ้งมิ้งในออฟฟิศทั่วไป ที่มักจะเอาหมอนนุ่ม ๆ มารองด้านหลัง เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะว่าเวลาเราเอาหมอนนุ่ม ๆ มาวาง เวลาพิงมันก็จะสบาย แต่มันทำให้กระดูกสันหลังเราโค้งตามหมอนนั้น ๆ ซึ่ง ร่างกายคนเรามีความฉลาด มันก็จะจำว่าอ่อโค้งแบบนี้ชอบ นั่งแบบนี้ไปสักปีหนึ่งก็จะส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลัง และระบบประสาทได้ ทางที่ดีเอาหมอนออกดีกว่านะครับ
อีกเรื่องที่มนุษย์ออฟฟิศทุกคน ต้องระวัง! คือระยะคอม ระยะจอ เดี๋ยวนี้คนใช้โน๊ตบุ้คทำงานกันเยอะ มักจะก้ม ๆ เงย ๆ จนร่างกายจำ ก็จะงอโดยที่เราไม่รู้ตัวที่นี้ก็จะปวดคอ เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ทุกอย่าง ตั้งแต่ท่านั่ง และพฤติกรรมการทำงาน หากไม่อยากเป็นโรค ‘ออฟฟิศซินโดรม’ นะครับ
เพราะเรื่องสุขภาพต้องมาก่อน จะลุยงานหนักๆ ได้ ร่างกายต้องแข็งแรงนะครับ ดังนั้นการนั่งให้ถูกวิธี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรค ‘ออฟฟิศซินโดรม’ และหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้คุณมีสุขภาพดีแน่นอน